Dentsu Impact Thailand จับมือ แพทย์ประสาทวิทยา วชิรพยาบาล ออกแบบแอปฯช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันฟื้นฟูเสียงพูด

'PRAYKINSON' แอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นจากอินไซต์ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน มีจุดเริ่มต้นจากนายแพทย์ ธนทัศน์ บุญมงคลแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคพาร์กินสันและกลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ สาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอย่างละเอียดลึกซึ้งเป็นเวลานาน จนพบว่าหนึ่งในสิ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย คือเรื่องเสียงพูดที่ค่อย ๆ เบาลงจนแทบไม่ได้ยิน แต่อาการนี้สามารถฟื้นฟูได้ผ่านกายภาพบำบัดด้วยการฝึกออกเสียงพูดบ่อย ๆ จึงร่วมมือกับ Dentsu Impact Thailand เอเจนซี่โฆษณาภายใต้เครือ Dentsu Creative Thailand ที่มุ่งใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาโซลูชันตอบสนองผู้บริโภค เพื่อสร้างสรรค์เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันสามารถฝึกบำบัดออกเสียงด้วยตัวเองได้เป็นประจำจากที่บ้าน ไม่ต้องลำบากเดินทางมาที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังค้นพบอินไซต์ที่ว่าผู้ป่วยพาร์กินสันซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มักมีพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำ คือการสวดมนต์ จุดประกายไอเดียการออกแบบแอปพลิเคชัน PRAYKINSON ให้เป็นเครื่องมือช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันฝึกออกเสียงผ่านบทสวดมนต์ผสานเทคโนโลยีการวัดระดับเสียง พร้อมระบบติดตามพัฒนาการให้ผู้ป่วยได้ฟื้นฟูร่างกาย สมอง และจิตใจในคราวเดียว ทำให้สามารถกลับมาสื่อสารกับคนรอบข้างได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

เราขอพาคุณมาสำรวจเบื้องหลังแนวคิดของแอปพลิเคชัน 'PRAYKINSON' ผ่านบทสัมภาษณ์ของ พัชรินทร์ สุโกรัตน์ ผู้อำนวยการ (ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์) บริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะแม่ทัพแห่งทีม Dentsu Impact Thailand ผู้ทำให้ไอเดียตั้งต้นนั้นกลายเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยเหลือผู้ป่วยพาร์กินสันได้จริงในวันนี้

ที่มาที่ไปของไอเดีย PRAYKINSON?

พัชรินทร์ สุโกรัตน์: เริ่มต้นจากการที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณหมอจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน คุณหมอเล่าว่าผู้ป่วยพาร์กินสันไม่ได้เผชิญแค่ปัญหาการเคลื่อนไหวที่ช้าและสั่นเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก นั่นคือ เสียงที่ค่อย ๆ หายไป โดยธรรมชาติของโรคนี้ ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าเสียงของตัวเองเบาลงเรื่อย ๆ จนคนรอบข้างแทบไม่ได้ยิน และหากไม่ได้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เสียงของพวกเขาอาจหายไปอย่างถาวร ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้กระทบแค่การสื่อสาร แต่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ ความสัมพันธ์กับครอบครัว และทำให้เกิดความโดดเดี่ยวทางอารมณ์ คุณหมอจึงมาปรึกษากับทีมของเราว่าจะมีวิธีไหนที่ช่วยพัฒนาและยกระดับชีวิตของผู้ป่วยได้บ้าง วิธีที่ทำให้พวกเขาสามารถฝึกพูดได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องรู้สึกว่ากำลังทำกายภาพบำบัดหรือใช้ยา ซึ่งจากการศึกษาไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เราพบว่าการ "สวดมนต์" เป็นกิจวัตรที่พวกเขาทำเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเพื่อความสงบใจ หรือเพื่อยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เราจึงคิดว่าแทนที่จะให้พวกเขาฝึกออกเสียงแบบเดิม ๆ ทำไมไม่เปลี่ยนสิ่งที่พวกเขาทำทุกวัน ให้กลายเป็นเครื่องมือฟื้นฟูเสียงที่มีประสิทธิภาพ

แอปฯ PRAYKINSON จะช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันได้อย่างไรบ้าง?

พัชรินทร์ สุโกรัตน์: PRAYKINSON ไม่ใช่แค่แอปฯ ที่ช่วยฝึกพูด แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยแบบองค์รวม เราไม่ได้มองแค่เรื่องของการออกเสียงเท่านั้น แต่เรานำศาสตร์ทางการแพทย์มาผสานเข้ากับศรัทธาและกิจวัตรที่ผู้ป่วยทำอยู่แล้วอย่าง "การสวดมนต์" ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน ในแง่ของร่างกาย การฝึกออกเสียงผ่านบทสวดช่วยให้ผู้ป่วยได้ใช้กล้ามเนื้อเสียงฝึกควบคุมระดับเสียง และกระตุ้นให้พวกเขาพูดออกมาให้ดังขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสามารถในการพูดให้นานที่สุด ยิ่งฝึกบ่อยเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้เสียงยังคงแข็งแรงและใช้งานได้ดี แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องของจิตใจ เราพบว่าผู้ป่วยหลายคนไม่ได้กังวลแค่เรื่องร่างกายเสื่อมถอย แต่ยังเผชิญกับความเครียดและความรู้สึกโดดเดี่ยว การที่พวกเขาได้สวดมนต์ทุกวันนอกจากช่วยฝึกพูดแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่ทำให้จิตใจสงบลง รู้สึกผ่อนคลายและมีที่พึ่งพาทางจิตใจ ซึ่งเป็นกำลังใจสำคัญในการต่อสู้กับโรคที่ต้องอยู่กับพวกเขาไปตลอดชีวิต และเพื่อให้การฝึกฝนมีประสิทธิภาพมากขึ้น PRAYKINSON จึงใช้เทคโนโลยีมาช่วยติดตามพัฒนาการของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจจับระดับเสียงที่ช่วยให้พวกเขารู้ตัวว่ากำลังพูดเบาไปหรือไม่ และกระตุ้นให้ฝึกพูดให้ดังขึ้น หรือระบบให้คะแนนและติดตามผล ที่ช่วยให้เห็นความก้าวหน้าของตัวเอง ทำให้มีกำลังใจฝึกต่อไป รวมถึงระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ (Daily Reminder) ที่ช่วยเตือนให้ฝึกสวดมนต์ทุกวัน เพราะการฝึกอย่างต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญของการฟื้นฟูเสียง

อะไรคือความสำเร็จของ PRAYKINSON ในมุมมองของเอเจนซี่โฆษณา?

พัชรินทร์ สุโกรัตน์: โฆษณาที่ดีไม่ใช่แค่การขายของ แต่คือการสร้างการเปลี่ยนแปลง และ PRAYKINSON คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า "ความคิดสร้างสรรค์" สามารถแก้ปัญหาในโลกจริงได้ เราไม่ได้แค่สื่อสารปัญหาของโรคพาร์กินสัน แต่เราใช้ความคิดสร้างสรรค์มาแก้ปัญหาให้พวกเขาโดยตรง อีกมุมหนึ่งการทำงานกับโครงการแบบนี้ช่วยเปิดมุมมองให้กับวงการโฆษณา ว่าความคิดสร้างสรรค์สามารถนำไปใช้ในรูปแบบอื่น ๆ ได้ ไม่ใช่แค่การสร้างแคมเปญให้แบรนด์ แต่ยังสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้จริง ๆ และสุดท้ายสิ่งที่ทำให้โปรเจกต์นี้พิเศษ คือมันเกิดจากความร่วมมือของทั้งวงการแพทย์และวงการครีเอทีฟ เราได้เห็นว่าการทำงานร่วมกันระหว่างศาสตร์ที่แตกต่างกัน สามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าได้ เราหวังว่า PRAYKINSON จะเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ดี ๆ แบบนี้อีกในอนาคต PRAYKINSON เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมโยงศาสตร์ทางการแพทย์เข้ากับความศรัทธา ทำให้ผู้ป่วยไม่เพียงแค่ได้ฝึกพูด แต่ยังได้ฟื้นฟูหัวใจของตัวเองไปพร้อมกัน และที่สำคัญ มันช่วยให้พวกเขายังคงเชื่อมต่อกับครอบครัว คนรอบข้าง และโลกภายนอกได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

อยากเห็น PRAYKINSON ไปสู่จุดใด?

พัชรินทร์ สุโกรัตน์: เราอยากให้ PRAYKINSON เป็นมากกว่าแอปฯ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยพาร์กินสันทั่วประเทศสามารถฝึกพูดได้ง่ายขึ้น และได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจากที่บ้าน เป้าหมายของเรา คือการขยายให้แอปฯ นี้ เข้าถึงผู้ป่วยในทุกพื้นที่ผ่านคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและโรงพยาบาลทั่วประเทศ หนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือการทำให้ PRAYKINSON เป็นแอปฯ ที่ครอบคลุมผู้ป่วยจากทุกศาสนาเท่าที่จะทำได้ โดยปัจจุบันเราได้เพิ่มบทสวดใน 3 ศาสนา ได้แก่ พุทธ คริสต์ และอิสลาม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกฝึกผ่านบทสวดที่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเอง และเรายังคงเดินหน้าขยายบทสวดจากศาสนาอื่น ๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต เราหวังว่า PRAYKINSON จะช่วยให้คนตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้นว่าพาร์กินสันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการเคลื่อนไหว แต่ยังส่งผลกระทบต่อ "เสียง" และ "ความสัมพันธ์" ของผู้ป่วยกับคนรอบข้าง เราอยากให้ครอบครัว ลูกหลาน หรือคนใกล้ตัวผู้ป่วย ได้ลองนำแอปฯ นี้ ไปใช้ และช่วยให้คนที่พวกเขารักยังคงสื่อสารได้อย่างมั่นใจ

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน PRAYKINSON ได้ที่

App Store: https://bit.ly/PRAYKINSONIOS

Play Store: https://bit.ly/PRAYKINSONAndroid


LATEST ARTICLES
TOP Share
Social